
งานประชุม Equitable Education Conference 2020 ‘All for Education’ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุม ได้รวม 60 นักคิด นักปฏิรูป และนักการศึกษา ที่มีอิทธิพลต่อโลกตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มาหาคำตอบร่วมกันเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา บนความท้าทายใหม่ของโลกหลัง COVID-19
หนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจ คือการเสวนาพิเศษเรื่อง ‘ภาวะผู้นำและการจัดการภายในโรงเรียน’ (School Leadership and Management)
ชัว เยน ชิง (Chua-lim yen ching) ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการศึกษาของครูสิงคโปร์ และรองอธิบดีกรมการส่งเสริมวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ นำเสนอรูปแบบการสร้างภาวะผู้นำในโรงเรียนของ NorthLight School ที่มอบโอกาสแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสและการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปสู่การสร้างการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม
NorthLight School: ยิ่งมืดมิด แสงของดาวยิ่งเปล่งประกาย
ในฐานะผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาครูแห่งประเทศสิงค์โปร์ และ โรงเรียน North Light ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ช่วยเด็กเสี่ยง และเด็กยากจนให้เข้าถึงการศึกษา เธอได้แบ่งปันความเห็นว่า
“โดยปกติ โรงเรียนประถมศึกษาในประเทศสิงคโปร์จะมีตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-6 และเมื่อเรียนจนจบชั้นปีที่ 6 จะต้องสอบเขียนในชั้นมัธยม เด็กๆ ที่สอบผ่านก็สามารถเข้าเรียนต่อได้ในชั้นมัธยม แต่ถ้าหากเด็กสอบไม่ผ่านการสอบข้ามชั้น พวกเขาจะต้องเรียนซ้ำชั้นอีก 1 ปี เพื่อให้มีความพร้อมจริงๆ ในการเลื่อนชั้นไปสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้น
“NorthLight School เริ่มขึ้นในปี 2006 เปิดรับนักเรียนกลุ่มแรกในปี 2007 โดยแนวคิดหลักของเราคือ ต้องการสร้างทางเลือกให้กับนักเรียน แทนที่จะต้องเรียนซ้ำชั้นที่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 อีกปี พวกเขาสามารถที่จะมาเรียนที่ NorthLight School ได้ ซึ่งโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดจากรัฐบาล และสิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์และภารกิจให้กับโรงเรียน
“เมื่อพวกเราเริ่มทำการสอน คุณทราบไหมว่านักเรียนบางคนมีชีวิตที่ยากลำบากมาก พวกเขาอาจจะได้พบเจอกับชีวิตที่ไม่ค่อยสมหวังเท่าไรนัก เราจึงต้องใช้ความพยายามกับเขามาก ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การให้แสงสว่างแก่พวกเขา และนั่นกลายเป็นโลโก้ของโรงเรียนเรา
Tweet

“ในโลโก้ของโรงเรียน จะประกอบไปด้วยสีม่วงและสีขาว คุณจะเห็นว่าจะมีดวงดาวที่กำลังโผล่ขึ้นมา สำหรับเรา สีม่วงนั้นหมายถึงความมืดบนท้องฟ้า และสีขาวหมายถึงสีของดวงดาว เราจึงพร่ำบอกกับอาจารย์และนักเรียนของเราให้จงระลึกไว้เสมอว่า ยิ่งมืดมิดเท่าไหร่ แสงสว่างจะสดใสมากขึ้นเท่านั้น
“รวมถึงสีประจำโรงเรียน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ทันทีเมื่อก้าวเข้ามาในโรงเรียน ทุกอย่างจะประกอบด้วยทั้งสีม่วงและสีขาว สร้างแรงจูงใจที่ดีมากให้กับนักเรียน
“ในด้านการสร้างครูก็สำคัญมากเช่นกัน ตอนเริ่มแรกที่มีแนวคิดจะสร้างโรงเรียน ทัศนคติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องการให้ครูของเราถูกโอนย้ายมาจากที่อื่น แต่ต้องการให้สมัครเข้ามาร่วมงานกับเราโดยตรง
“คุณอาจกำลังสงสัยว่า ด้วยลักษณะนักเรียนของเรา การสอนพวกเขาเป็นสิ่งท้าทายมาก จะมีคุณครูที่อยากสมัครเข้ามาเหรอ แต่เรามั่นใจว่ามันสำคัญมากที่ครูของเราจะต้องมีความรักในอาชีพและมีความสามารถด้วยเช่นเดียวกัน
“ย้อนไปเมื่อปี 2006 เราเปิดรับสมัครครูชุดแรกจากทั่วภูมิภาค พบว่ามีครูมาสมัครถึง 150 คน แต่เราต้องการแค่ 20 คน ในปี 2007 เพื่อสอนนักเรียนกลุ่มแรกของเรา ดังนั้นเมื่อเราได้กลุ่มคนที่เหมาะสมกับอุดมการณ์ตั้งต้นของเรา ว่าต้องการเลือกคนที่ใช่ เพื่อขึ้นรถบัสไปกับเรา เราต้องระบุที่นั่งที่เหมาะสมให้กับเขาด้วย
“และเมื่อเรามีคุณครูแล้ว เรายังเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ของหมู่คณะด้วย เขาอาจจะมีความรักในอาชีพ มีความสามารถ แต่หากเขาไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เราก็ไม่สามารถรับคนเหล่านี้มาร่วมทำงานกับเราได้ เพราะความสัมพันธ์ในหมู่คณะเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่น และเมื่อเราได้ส่วนประกอบเหล่านั้นครบ เราก็พบว่าเด็กๆ จะค่อยๆ ตอบสนองด้วยดี”
ความสัมพันธ์ที่งดงามกับชุมชน
จากการเปิดสอนในช่วงแรก เธอเล่าว่านักเรียนมีความสุขในการมาเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่นักเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่คนภายนอกยังมองว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าเธอจะออกจากโรงเรียนนี้มา 8 ปีแล้ว และโรงเรียนเองก็เปลี่ยนผู้อำนวยการไปถึง 2 รุ่นแล้วก็ตาม แต่เมื่อมองย้อนกลับไป พบว่าผู้นำเหล่านั้นยังสามารถนำพาโรงเรียนแห่งนี้ไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
อดีตผู้บริหารของ NorthLight School กล่าวว่า
“เรื่องราวที่น่าประทับใจเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว บริษัทที่มีความสัมพันธ์อันดีกับโรงเรียนเรา ช่วงหลังเขามีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนแผนทางธุรกิจ และในเดือนธันวาคม พวกเขาจัดงานลดราคาสินค้าครั้งใหญ่เพื่อลดงบประมาณ และพนักงานเหลือเพียง 14 คน ซึ่งไม่พอในการจัดงานลดราคาครั้งนั้น
“เจ้าของบริษัทได้ถ่ายรูปและส่งมาให้ฉันดู ฉันเห็นศิษย์เก่าของโรงเรียนอยู่ในภาพ ซึ่งเด็กเหล่านั้นเคยได้รับการฝึกฝนจากบริษัทตอนพวกเขาเป็นนักเรียน พวกเขาเรียนจบและได้งานทำ แต่ก็พร้อมใจกันลางานเพื่อจะกลับไปช่วยบริษัทจัดงานลดราคาสินค้า
“นั่นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่พวกเขาได้ตอบแทนบริษัทหลังจากที่เรียนจบไปแล้วถึง 6 ปี ฉันจึงเขียนจดหมายชื่นชมไปยังผู้อำนวยการคนปัจจุบัน
“ขณะที่เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังสร้างหุ่นยนต์ที่ดีที่สุดขึ้นมา พวกเราในฐานะผู้ให้ความรู้ ต้องพยายามสร้างมนุษย์ที่ดีที่สุดขึ้นมา และนักเรียนก็รู้ถึงความเอาใจใส่ของเรา เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็เห็นถึงความท้าทายในตอนนั้น”
Tweet
ลักษณะและปัญหาของภาวะผู้นำ
จากประสบการณ์ของเธอในการบริหารการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส และยังได้สร้างภาวะผู้นำของโรงเรียนขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่าคุณลักษณะสำคัญของผู้นำมีความสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วย เธอเล่าว่า
“วิสัยทัศน์และเป้าหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดไว้บนกำแพงเท่านั้น และไม่ใช่แค่ให้ครูทราบว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ต้องมีความเชื่อมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายด้วย ดังนั้น ตอนที่เรามีนักเรียนกลุ่มแรกเข้ามาเรียน สิ่งที่สำคัญมากคือเราบริหารโรงเรียนนี้ เราต้องมอบความหวังให้กับพวกเขาด้วย ความหวัง (Hope) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับเด็ก เพราะนั่นหมายถึงความหวังและความมั่นใจด้วย
“เด็กๆ ของพวกเราหลายคนต่างเคยพบกับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาก่อน หรือไม่เคยทำอะไรที่สำเร็จมาก่อนเลย หรือไม่ก็สภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหามาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาสิ้นหวังและสิ้นกำลังใจ ผู้นำและครูของโรงเรียนจะต้องช่วยหยิบยื่นความหวังให้แก่เขา นี่คือภารกิจของเรา
“กระบวนการเติมเต็มความหวังนั้นคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิด ยกตัวอย่างเช่น เราจะถามว่า ช่วยบอกคุณลักษณะของไม้บรรทัดด้วยคำจำกัดความเพียง 1 คำ ดิฉันมั่นใจว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะตอบว่า ไม้บรรทัดจะต้อง ‘ตรง’ เพราะมันจะต้องนำไปวัดอะไรสักอย่าง แต่ดูไม้บรรทัดของฉัน (ชูไม้บรรทัดที่ไม่ตรง) ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรง ถ้าเราคิดจากรูปแบบวิธีคิดเดิม เราอาจคิดว่าเด็กพวกนี้จะไปได้ไกลสักเท่าไหร่ ยากเกินไป เราช่วยเขาไม่ได้หรอก
“เราทุกคนจึงต้องมีเป้าหมายในอนาคต (ชูหนังยาง) สมมุติว่าเราเป็นหนังยางและพยายามยืดออกไป เราจะเจ็บปวดมาก เพราะมันตึงมาก แต่ถ้าเราลดด้านปลายของหนังยางลง (ยึดหนังยางด้านบนไว้) มันหมายความว่าเราต้องเปลี่ยนเป้าหมาย ซึ่งดูเหมือนเราจะทอดทิ้งความฝันของตัวเอง แต่คิดอีกมุมคือเราสามารถยึดเป้าหมายในอนาคตของเราไว้ได้ ด้วยการขยับเหตุการณ์ขึ้นไปได้ (ขยับหนังยางด้านล่างขึ้นไป)
“ตัวอย่างเช่น เริ่มแรกโรงเรียนของเราตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสิงคโปร์ เมื่อนักเรียนสมัครเข้ามา เราก็พบว่านักเรียนส่วนมากมาจากฝั่งเหนือ และการเดินทางมาโรงเรียนค่อนข้างไกล ในช่วงแรกคุณครูในโรงเรียนตกลงกันว่านักเรียน 85 เปอร์เซ็นต์ของเราต้องมาโรงเรียนทุกวัน เราจะยอมรับให้นักเรียนขาดได้แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ บางคนเสนอให้ลดเหลือ 65 เปอร์เซ็นต์ก็พอ แต่เมื่อเราต้องยึดเป้าหมายเอาไว้ให้ได้ วิธีการก็คือจัดรถบัส 3 คัน ไปรอรับเด็กของเราที่สถานีรถไฟแทน นี่คือการขยับความจริงในปัจจุบันเข้ามา โดยไม่ปิดเป้าหมาย และเราก็บรรลุเป้าหมายเดิมคือ 85 เปอร์เซ็นต์
“เพราะถ้านักเรียนไม่มาโรงเรียน หลักสูตรที่ดีที่สุดของคุณก็ไม่สามารถสำเร็จขึ้นมาได้”
Tweet
พัฒนาครูและร่วมมือกับชุมชน
ประเด็นต่อมาที่ทำให้ NorthLight School ช่วยสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาได้คือ การพัฒนาครู ซึ่งเป็นกลไกหลักของระบบการศึกษาสิงคโปร์ เธอเล่าว่า
“ครูก็ต้องเรียนรู้และตื่นตัวตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 ระบาด เราใช้มาตรการปิดเมือง 1 เดือน เหล่าครูก็เดินทางกลับบ้าน ครูต้องทำงานหนักมากขึ้นในการเตรียมตัวเพื่อสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกทักษะ แต่ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เมื่อมาถึงจุดที่ครูต้องทำงานเป็นทีม เธอได้ชูเชือก 3 เส้น และมัดเฉพาะสีเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากทุกคนคิดว่านี่คืองานฉัน ไม่เกี่ยวกับคนอื่น แต่ถ้ามัดต่อกันได้จะเป็นวงกลมที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ในสิงคโปร์ เรามีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอาจารย์และภาวะผู้นำของอาจารย์ เรามีเส้นทางของอาชีพครู ซึ่งครูอาวุโสสามารถเลื่อนไปเป็นหัวหน้าครูหรือครูใหญ่ได้ ซึ่งในประเทศเรา ครูจะได้รับการฝึกฝนอย่างน้อย 16 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ และเราโชคดีที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินที่จะนำไปฝึกฝนให้ครูมีความเป็นมืออาชีพ”
มาสู่คำถามที่ว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่และยังอยู่ในระบบกระทรวงศึกษาธิการ คิดว่าอะไรเป็นการสนับสนุนผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งหมดนั้น เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของนักเรียนที่ด้อยโอกาส เธอกล่าวว่า
“นอกเหนือจากเรื่องครูแล้ว เรามีแผนงานการพัฒนาอาชีพที่ดี ผู้บริหารโรงเรียนจะได้รับการฝึกฝนที่เป็นทางการ มีการฝึกอบรมก่อนจะไปเป็นผู้นำในโรงเรียน โดยมีหลักการแรกคือ มีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ
“หลักการที่สอง เปลี่ยนรูปแบบทางความคิดของตนเอง เราจำเป็นต้องกำหนดความสำเร็จขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเข้ามาใน NorthLight School จะเห็นป้ายประกาศติดบนกำแพง ปกติโรงเรียนมีการแสดงภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ครูเรามีความคิดสร้างสรรค์กว่านั้น คือติดข้อความบันทึกพฤติกรรรมที่ดีแทนภาพจากกล้องวงจรปิด และบางจุดก็ติดข้อความว่าถ้านักเรียนทำผิด ครูจะเสียใจ ไม่ใช่ครูจะลงโทษ
“สุดท้ายคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งรวมถึงผู้ปกครองและชุมชน ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรามีร้านขนมปังอยู่ใจกลางสิงคโปร์ มีการแจกขนมปังฟรีให้เด็ก ๆ ทุกเช้า ในช่วง 6 ปีแรก และต่อมาเรามีกลุ่มคนที่ขับรถ Chevy ประมาณ 40 คน ถ้ามีเด็กป่วย พวกเราสามารถโทรหาเขา จะมีคนมารับเด็ก ซึ่งปลอดภัยกว่าแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงตัวอย่างสุดท้าย เด็กนักเรียนจะได้กินไอศกรีม Ben and Jerry พันธมิตรของเราก็สนับสนุนมาเป็น 10 แล้ว สำหรับเด็กนักเรียน 1 คน ต่อไอศกรีม 1 ถ้วย และข้อเท็จจริงคือ เมื่อเด็กเหล่านั้นจบไปก็กลับมาเลี้ยงไอศกรีมให้กับน้องๆ ของเขา เพื่อที่จะให้น้องรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร
“ในภาพใหญ่ของสิงคโปร์ งบประมาณจำนวนมากไม่ได้กระจายให้เท่ากันในแต่ละโรงเรียน เช่น โรงเรียนที่มีความจำเป็นสูงจะมีที่ปรึกษาให้ 2 คน ไม่ใช่ 1 คน มีคนไปคอยเคาะประตูบ้านเด็กเพื่อโน้มน้าวให้เขามาโรงเรียน เราจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า ‘UP Lift’ ซึ่งคอยทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกเพื่อยกระดับการศึกษาและช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก”
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของ ชัว เยน ชิง ที่รวมเอาการเปลี่ยนรูปแบบการคิด การพัฒนาครู เชื่อมร้อยกับเครือข่ายชุมชน ภายใต้ความเชื่อมั่นในศักยภาพที่ว่า ‘ยิ่งมืดมิด ดวงดาวยิ่งทอประกาย’ คือภาพรวมการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาจากบทเรียนของประเทศสิงคโปร์ที่ ชัว เยน ชิง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการศึกษาของครูสิงคโปร์ และรองอธิบดีกรมการส่งเสริมวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเสนอแก่วงเสวนา School Leadership and Management