ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเข้าถึงการศึกษาในหลายพื้นที่ทั่วโลกนั้นยังเป็นปัญหาอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมและไม่เสมอภาค ส่งผลให้เด็กบางกลุ่มถูกกีดกันออกไปจากระบบการศึกษาที่พวกเขาควรได้รับ ดังเช่นในกรณีของประเทศเคนยา วัฒนธรรมกลับกลายมาเป็นหนึ่งในกำแพงที่ขวางกั้นผู้หญิงออกจากระบบการศึกษาเช่นเดียวกับปัญหาความยากจน
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2021 The Guardian ได้นำเสนอข่าวสภาพปัญหาการศึกษาในประเทศเคนยา โดยเฉพาะในเขต Isiolo ที่มีเด็กผู้หญิงจำนวนมากกว่า 1,000 คน ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และถูกวัฒนธรรมกีดกันให้พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาตามปกติได้เหมือนเด็กผู้ชาย
ปัญหาของการตั้งครรภ์ในเยาวชนและการไม่เห็นข้อดีของการไปเรียนในสถานศึกษานั้น เป็นเพราะวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานในเคนยา การแต่งงานก่อนวัยอันควรและปราศจากความยินยอมพร้อมใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับเด็กผู้หญิงที่อายุน้อยกับผู้ชายที่อาจจะมีอายุมากกว่าคู่สมรสหลายเท่า
ข้อมูลของสถาบัน Brookings ระบุเอาไว้ว่า เคนยามีผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาเพียง 13 ล้านคนเท่านั้น และกว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับใดเลยเป็นประชากรเพศหญิง ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาอย่างมาก
ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผู้นำและนักการศึกษาทั่วโลกมองเห็นจากกรณีเคนยาคือ การทำให้สิทธิที่จะได้รับการศึกษานั้นเป็นสิทธิพื้นฐานที่เด็กทุกคนพึงมีตั้งแต่กำเนิด และแนวคิดดังกล่าวต้องเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมเดิมที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา
ด้วยแนวคิดนี้เองจึงส่งผลให้เคนยามีการจัดตั้งศูนย์ ‘Catchup’ ขึ้นมากว่า 26 ศูนย์ ใน Isiolo เพื่อให้เด็กผู้หญิงอายุ 10-19 ปีที่ประสบปัญหาไม่เคยได้รับการศึกษา หรือมีความจำเป็นต้องออกจากการเรียนกลางคัน มีโอกาสได้กลับมาเรียนรู้ เพิ่มทักษะการฟังพูดอ่านเขียน และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีเด็กหญิงเข้าร่วมโครงการใน Isiolo ทั้งหมด 1,034 คน และอีกกว่า 4,000 คนในเมือง Garissa, Kilifi, Migori และ Kisumu
การพัฒนาทักษะพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชนเคนยา มีผลสำคัญอย่างมากต่อการผลักดันให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน ปัจจุบันการพยายามต่อสู้กับวัฒนธรรมเก่าในเคนยาด้วยโครงการนี้ยังคงดำเนินอยู่ และน่าจับตามองถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/global-development/2021/jul/27/self-esteem-was-so-low-look-at-them-now-the-scheme-getting-kenyas-girls-back-to-school
- https://www.brookings.edu/blog/future-development/2020/05/28/learning-in-east-africa-where-are-children-advancing/